FFC Plus บนแท็บเลต จับไอทีสร้างสุขภาพในชุมชน


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

2014-06-07-FFC Plus

ภารกิจหนึ่งของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คือการลงพื้นที่เก็บข้อมูลคนในชุมชนเพื่อคัดครองผู้ป่วย เฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งก่อนป่วย อย่างงานระบาดวิทยา และงานติดตามหลังป่วย อาทิ คุณแม่หลังคลอด จึงเป็นที่มาให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ลุกขึ้นมาพัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัว รุ่นที่ 2 (Family Folder Collector : FFC Plus) สำหรับการใช้งานบนแท็บเลต แอนดรอยด์ (ตั้งแต่เวอร์ชั่น 2.2-4.4)

“วัชรากร หนูทอง” นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยโพรโตคอลและเครือข่ายไร้สาย (WNP) เนคเทค เล่าถึงที่มาของโปรแกรม FFC Plus ว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นหลังได้ศึกษาดูงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหลาย ๆ แห่ง พบปัญหาเหมือนกัน คือต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก เพื่อจัดเก็บข้อมูลแฟ้มอนามัยครอบครัวที่บันทึกด้วยกระดาษ ในปี 2553 ทางเนคเทคจึงเริ่มพัฒนาโปรแกรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่

โดยเริ่มที่โปรแกรม FFC เวอร์ชั่นแรกที่รองรับการทำงานบนคอมพิวเตอร์พีซี และโน้ตบุ๊ก ใช้เวลาพัฒนา 3 เดือน ด้วยงบประมาณ 195,000 บาท ซึ่งมีประสิทธิภาพดีจน “น.พ.สุรพร ลอยหา” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ต้องการให้ต่อยอดเป็นโปรแกรม FFC Plus สำหรับใช้งานบนแท็บเลต แอนดรอยด์ เนื่องจากเป็นระบบเปิด และราคาอุปกรณ์ไม่แพง โดยให้งบประมาณจากสาธารณสุขอุบลราชธานี 800,000 บาท และใช้เวลาอัพเกรดอีก 1 ปี รองรับการทำงานบนแท็บเลต แอนดรอยด์ ตั้งแต่เวอร์ชั่น 2.2-4.4

โดย FFC นี้จะเป็นโปรแกรมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำติดตัวลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลทำแฟ้มอนามัยครอบครัวสำหรับวินิจฉัยโรคและการจ่ายยาให้คนในชุมชน ช่วยย่นระยะเวลาการกรอกข้อมูล และทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาเหลือในการไปบริการประชาชนมากขึ้น

หลังจากนั้นเนคเทคก็พัฒนาแบบฟอร์มสำหรับคัดกรองด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอีก 13 แบบฟอร์ม อาทิ แบบคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ แบบคัดกรองวางแผนครอบครัว แบบคัดกรองสุขภาพเด็ก ทำให้สามารถจัดกลุ่มข้อมูลลงทะเบียนข้อมูลได้อย่างลึกและครอบคลุมถึงข้อมูลของผู้ป่วยในชุมชน

จนมาถึง FCC Plus เวอร์ชั่นล่าสุด มีจุดเด่นที่สามารถจัดเก็บพิกัดที่อยู่เจ้าของแฟ้มสุขภาพได้โดยใช้แผนที่กูเกิลแมป ลงทะเบียนสถานที่สำคัญใหม่ เพิ่มระบบค้นหาด้วยชื่อหรือเลขบัตรประจำตัวประชาชน และยังสามารถเข้าดูผังเครือญาติ ลงทะเบียนคนพิการ ระบุโรคเรื้อรังได้ โดยสามารถใช้ได้ทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมเชื่อมต่อเข้ากับระบบเซิร์ฟเวอร์ของศูนย์สุขภาพชุมชนของแต่ละที่ เพื่อเข้าสู่ระบบงานของกระทรวงสาธารณสุข (JHCIS) ได้

โดยปัจจุบันมีการดาวน์โหลดจาก www.ffc.in.th ไปใช้งานราว 1,600 ครั้ง และคาดหวังว่าศูนย์สุขภาพชุมชนกว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศจะดาวน์โหลดไปใช้ทั้งหมด ซึ่งปัญหาในการใช้งานขณะนี้คือยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนด้านอุปกรณ์ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องออกเงินซื้อแท็บเลตเอง ซึ่งทางเนคเทคได้หารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหานี้แล้ว

“ธัญลักษณ์ ไชยรินทร์” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลสารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ผู้ใช้งานโปรแกรม FFC Plus กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพแห่งนี้มีเจ้าหน้าที่ 8 คน ต้องปฏิบัติงานครอบคลุมพื้นที่ 10 หมู่บ้าน ประชากรราว 7,000 คน การใช้โปรแกรม FFC Plus ทำให้มีความคล่องตัวและสนุกในการปฏิบัติงานมากขึ้น สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียด ผู้บริหารสามารถนำข้อมูลไปวางแผนงานให้มีประสิทธิภาพมาก ทั้งการรับมือกับโรคระบาด การเฝ้าระวังและควบคุมโรค ขณะที่การจัดเก็บข้อมูลลงระบบของกระทรวง ก็สะดวกและง่าย เพราะเชื่อมต่อเข้าระบบได้ทันที จากเดิมที่ต้องคีย์ข้อมูลลงระบบใหม่ และยังย้อนดูประวัติเก่าของคนไข้ได้ ทำให้ดูแลได้ตรงจุด

ด้าน “สมพร เหลืองวานิช” ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลสารภี กล่าวว่า ตั้งแต่ทีมสาธารณสุขของศูนย์นำแอปพลิเคชั่นนี้มาใช้ในการลงพื้นที่สำรวจผู้ป่วย รู้สึกว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่มากยิ่งขึ้น ทั้งการแนะนำทางด้านสุขภาพ การตรวจสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ในเรื่องสุขภาพตัวเองมากขึ้น ต่างจากสมัยที่ใช้สมุดกระดาษบันทึก ซึ่งไม่ได้มีรายละเอียดชัดเจน ทำให้รักษาได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

“ดีขึ้นมาก สะดวกสบายยิ่งขึ้นในการจัดเก็บข้อมูล ไม่ต้องใช้เวลานาน แล้วยังมีข้อมูลของสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านด้วย แล้วยังทำให้ทีมสาธารณสุขรู้ได้ด้วยว่ายาที่ป้ากินใกล้หมดหรือยัง ถ้าหมดแล้วก็จะจ่ายยาให้ทันที ทำให้ไม่ต้องลำบากเดินทางไปโรงพยาบาล”

นี่เป็นอีกตัวอย่างของไอทีที่ทำให้ชีวิตคนทุกระดับมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้จริง ๆ

Back to blog